วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

ลมยางสำคัญอย่างไร



ลมยางถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับขี่

เพราะลมมีหน้าที่ทำให้ยางคงรูปร่างสามารถยึดติดกับกระทะล้อ รับน้ำหนักบรรทุกได้ และรับแรงสั่นสะเทือนจากการกระแทกระหว่างหน้ายางและผิวถนนที่ขรุขระ สำหรับลมที่ใช้ในการเติมยางรถยนต์นั้น ได้มาจากอากาศอัดที่มาจากปั๊มลม แต่สำหรับปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้แก๊สไนโตรเจนแทนการใช้ลมอัดบ้าง แต่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากนัก เพราะหากเลือกใช้แก๊สไนโตรเจนแทนการใช้ลมอัด ผู้ขับขี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเติมแก๊ส อีกทั้งราคาของแก๊สยังมีราคาสูงอีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับลมยางที่ใช้กันอยู่ทั่วไปแล้ว ค่าเติมแก๊สไนโตรเจนจึงมีราคาอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อล้อ

ความดันลมต่อการใช้งานยางรถยนต์ ความดันลมภายในยางรถเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ยางสามารถทำงานได้อย่างปกติ โดยบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์จะเป็นผู้ควบคุมค่าความดันลมให้คงที่และมีความเหมาะสมกับยางรุ่นต่าง ๆ เพราะยางแต่ละชนิดเหมาะสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการทำให้ยางมีรูปทรงที่เหมาะสมจึงทำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

ในกรณีที่ความดันลมยางมีปริมาณน้อยจะทำให้ยางแบน ซึ่งหมายความถึงหน้ายางจะได้รับการสัมผัสกับถนนไม่เต็มหน้า ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายบริเวณไหล่ยาง ชั้นผ้าใบหรือเนื้อยางเกิดการหักชำรุดเสียหาย ทำให้มีผลต่อการขับเคลื่อน เช่น บังคับเลี้ยวได้ยาก พวงมาลัยหนัก เป็นต้น อีกทั้งทำให้การยึดเกาะถนนลดลง แต่สำหรับความดันลมยางที่มากเกินไป อาจส่งผลให้แก้มยางสูงและหน้ายางโค้งขึ้น ดอกยางสัมผัสกับผิวของถนนเฉพาะบริเวณตรงกลางหน้ายาง เป็นผลให้ตรงกลางหน้ายางมีการสึกหรอการยึดเกาะถนนทำได้น้อย รถลื่นไถลหรือเสียหลักได้ง่าย หรือยางอาจเกิดการระเบิดได้หากมีความดันลมยางในปริมาณมากเกินไป ความดันลมยางที่เหมาะสมสำหรับยางรถยนต์ทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 28-36 ปอนด์/ตร.นิ้ว ในรถกระบะควรมีปริมาณความดันลมยางอยู่ที่ 30-45 ปอนด์/ตร.นิ้ว (เมื่อไม่มีการบรรทุก) และประมาณ 35-65 ปอนด์/ตร.นิ้ว (เมื่อมีการบรรทุก)
ในกรณีที่ขับขี่รถยนต์ทางไกลควรเพิ่ม ความดันลมยางขึ้น 3-5 ปอนด์/ตร.นิ้ว จากระดับปกติ เพื่อลดการบิดตัวของโครงสร้างยาง อันเป็นสาเหตุทำให้ยางเกิดความร้อน

ทราบข้อมูลลมยางกันไปแล้ว อย่าลืมตรวจเช็คสภาพลมยางให้พร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอนะคะ

วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เขม่าปลายท่อบอกอาการรถ


เคยสังเกตเขม่าปลายท่อรถยนต์กันบ้างหรือไม่

เขม่าปลายท่อนั้น มาจากการเผ่าไหม้ในเครื่องยนต์ เพราะรถจะวิ่งหรือใช้งานได้ดี บางทีเราไม่สามารถรู้ได้ ดังนั้นการสังเกตเขม่าปลายท่อ อาจเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า เครื่องยนต์ของคุณ ยังสามารถใช้การได้ดีอยู่หรือไม่

เขม่าปลายท่อสีเทาเกือบขาวหรือสีขาวแห้งๆ บ่งบอกถึงส่วนผสมของการเผาไหม้ที่เบาเกินไป หรือองศาการจุดระเบิดแรงเกินไป การเผาไหม้ที่ส่วนผสมบางเกินไป มักเพิ่มโอกาสให้ลูกสูบเกิดความเสียหาย เนื่องมาจากการสะสมความร้อน เมื่อลูกสูบมีการสะสมความร้อนในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดการสึกหรอหรืออาจทำให้หัวลูกสูบทะลุได้ นอกจากนี้ความร้อนที่สะสมในเครื่องยนต์ที่มากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อการขับเคลื่อนในระยะไกล ดังนั้นหากพบว่า เขม่าปลายท่อสีเทาเกือบขาวหรือสีขาวแห้งๆ ก็ควรแก้ไขโดยการเพิ่มส่วนผสมให้หนาขึ้นนิดหน่อย จะช่วยลดปัญหานี้ได้

เขม่าปลายท่อสีดำเข้ม มีคราบเขม่าแห้งๆ สีดำติดที่ปลายท่อและรอบนอก เขม่าปลายท่อสีดำเข้ม บอกถึงส่วนผสมที่หนาจนเกินไป เพราะส่วนผสมที่หนาจนเกินไปอาจแย่งพื้นที่ของอากาศ ทำให้ได้กำลังอัดที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้การเผาไหม้เปลี่ยนแปลง หรือเผาไหม้หมดจด
นอกจากผสมที่หนาจนเกินไป จะทำให้รถไม่วิ่งแล้ว ยังทำให้มีคราบเขม่าจับหนาบริเวณ วาล์ว หัวลูกสูบ ทางเดินไอเสียและ หัวเทียน ส่งผลให้หัวเทียนบอดง่าย หากคราบเขม่าไปจับที่หัวลูกสูบ จะทำให้การเผาไหม้ไม่สมบรูณ์ ไปจับที่วาล์ว และ บ่าวาลว์มากๆ ส่งผลให้วาลว์ปิดไม่สนิท กำลังอัดตก ดังนั้นส่วนผสมที่หนาจนเกินไปไม่ได้ให้ผลดีอะไรเลยนอกจากสิ้นเปลืองน้ำมัน

เขม่าปลายท่อดำมาก เป็นสัญญาณเตือนที่อันตราย คราบเขม่าที่เกาะติดอยู่นี้ เป็นคราบน้ำมันแฉะ นั่นคือสัญญาณเตือนเครื่องยนต์สึกหรอ หรือเครื่องยนต์อาจกำลังเจอปัญหาหนัก เพราะคราบเหนียวๆ แฉะๆ นั้น คือน้ำมันเครื่องที่ปนออกมา อาจเป็นสาเหตุให้เครื่องยนต์หลวมอีกด้วย

เขม่าปลายท่อเป็นสีจาง ไม่เข้มและแห้ง เขม่าปลายท่อที่ปรากฏเช่นนี้ แสดงว่าเครื่องยนต์ของคุณ มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์แบบ และยังสามารถใช้งานได้ดี

ประโยชน์ของออยล์คูเลอร์ ( OIL COOLER )



ออยล์คูเลอร์ ( OIL COOLER ) หรือ ตัวการทำให้น้ำในเครื่องเย็น


น้ำมันเครื่องที่ใช้กันอยู่ทั่วไปทำหน้าที่ในการลดการเสียดสีของเครื่องยนต์ เพื่อป้องกันให้เครื่องยนต์เกิดการสึกหรอน้อยที่สุด ซึ่งอาศัยฟิล์มบางๆของน้ำมันเครื่องเข้าไปแทรกบริเวณช่องว่างระหว่างชิ้นส่วน เช่น เพลาข้อเหวี่ยง แหวนสูป ก้านสูป เพลาราวลิ้น แคมชาร์ป เป็นต้น น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพจะต้องมีปริมาณสารยึดเกาะโลหะที่เหมาะสม จะสังเกตได้ว่าน้ำมันเครื่องที่มีราคาแพงจะทำหน้าที่ในการหล่อลื่นได้ดีกว่าน้ำมันเครื่องราคาถูก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติน้อย จึงสามารถใช้งานได้ดีในอุณหภูมิสูง อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าน้ำมันเครื่องราคาถูก น้ำมันเครื่องราคาถูกจะทำงานได้ดีในอุณหภูมิที่กำหนด แต่หากอุณหภูมิสูงขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นของเหลวใส ในขณะที่เครื่องมีการทำงานอย่างหนักและมีความร้อนเกิดขึ้นสูง เป็นผลให้โลหะภายในเครื่องยนต์มีการขยายตัว เพิ่มโอกาสทำให้โลหะเกิดการกระทบกันและเสียหายได้ในที่สุด นอกจากนี้ออยล์คูเลอร์ยังมีหน้าที่หลัก ในการช่วยระบายความร้อนให้น้ำมันเครื่องที่หมุนเวียนอยู่ในเครื่องยนต์ ให้มีอุณหภุมิที่เหมาะสม ภายในออยล์คูลเลอร์จะมีครีบให้น้ำมันเครื่องไหลผ่านและอาศัยอากาศภายนอกไหลมากระทบกับท่อน้ำมัน เพื่อนำความร้อนออกมาระบายให้เย็นตัวลง

ชนิดของออยล์คูเลอร์

ออยล์คูเลอร์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

1. ระบายความร้อนด้วยน้ำ ชนิดนี้มักถูกติดตั้งกับกรองน้ำมันเครื่อง หรือติดตั้งอยู่กับเสื้อสูป ในเครื่องที่มีการออกแบบให้มีน้ำและน้ำมันเครื่องไหลผ่าน มักผลิตมาจากสแตนเลส เพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำ แต่มักทำให้การระบายความร้อนทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก ออยล์คูเลอร์ชนิดนี้ส่วนใหญ่มักถูกติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิต

2. ระบายความร้อนด้วยอากาศ มี 2 แบบ แบบที่หนึ่ง ทำมาจากทองแดงทั้งท่อภายในและภายนอก ทำให้ทนทานมากกว่าชนิดแรก มีน้ำหนักมาก แต่การระบายความร้อนสามารถทำได้น้อย แบบที่สอง ทำจากอลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักน้อย ให้ความแข็งแรงทนทานน้อยกว่าชนิดอื่น ๆ แต่สามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การติดตั้ง
ในเครื่องยนต์ดีเซลมักมีการติดตั้งออยล์คูเลอร์มาแล้ว เพราะเป็นเครื่องยนต์ที่มีความร้อนสูง ในเครื่องเทอร์โบส่วนมากก็จะติดตั้งมาให้ ส่วนใหญ่จะเป็นการระบายความร้อนด้วยน้ำ แต่หากเป็นการระบายความร้อนด้วยอากาศจะมีขนาดเล็ก สำหรับเครื่องยนต์ที่มีการติดตั้งแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ สามารถหาซื้อแบบที่ดีกว่ามาติดตั้งได้เลย เครื่องระบายความร้อนด้วยน้ำมักต้องถอดเครื่องเดิมออกก่อนและหาอแดปเตอร์มาต่อในจุดที่เคยใส่กรองน้ำมันเครื่อง และต่อสาย มายังตัวใส่กรองน้ำมันเครื่องด้านนอก แล้วในตัวอแดปเตอร์จะมีสายแยกเพื่อจะเข้าไปยังออยล์คูเลอร์อีกที สำหรับการติดตั้งต้องอยู่ในบริเวณที่สามารถรับลมที่จะมาระบายความร้อนได้ดี ไม่เสี่ยงกับการกระแทก และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย หรืออาจติดตั้งพัดลมไฟฟ้าระบายความร้อนร่วมด้วยก็ได้

ข้อดี
1. ช่วยระบายความร้อนของเครื่องยนต์ได้ มีความสำคัญเทียบเท่ากับหม้อน้ำ เพราะถ้าน้ำมันเครื่องเย็นมีผลทำให้อุณหภูมิของเครื่องเย็นลงด้วย

2. ช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่องให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น

ข้อควรระวังสำหรับการใช้ออยล์คูเลอร์
ควรคำนึงถึงปั้มน้ำมันเครื่องด้วยว่ามีแรงดันเพียงพอหรือไม่ เพราะหากแรงดันน้ำมันเครื่องลดลงอาจต้องเปลี่ยนปั้มน้ำมันเครื่องใหม่ ในการติดตั้งควรใช้วัสดุที่มีคุณภาพ เมื่อทำการติดตั้งแล้ว ควรตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่องให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาจต้องเพิ่มน้ำมันเครื่องอีก 1 – 2 ลิตร

เทคนิคง่าย ๆ ในการเอาใจใส่รถยนต์ อย่าลืมนำไปใช้นะคะ

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ล้างหม้อน้ำ ไม่ใช่เรื่องยาก




การหมั่นล้างทำความสะอาดหม้อน้ำ

นอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อนของหม้อน้ำแล้ว ยังช่วยลดอัตราการกัดกร่อนภายในที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับวิธีการล้างหม้อน้ำมีดังต่อไปนี้

1. หาถุงพลาสติกคลุมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันความเสียหาย หลังจากนั้นให้คลายปลั๊กถ่ายน้ำที่อยู่ด้านล่างเล็กน้อย

2. เปิดฝาหม้อน้ำ ต่อน้ำจากสายยาง ติดเครื่องยนต์ให้ทำงาน หลังจากนั้นคลายหัวไล่น้ำออกเอาสายยางสอดลงไปในช่องที่เปิดฝาหม้อน้ำออก ให้มีน้ำหมุนเวียนอยู่ในเครื่องยนต์ตลอดเวลา ซึ่งน้ำจากสายยางจะไหลจากท่อยางที่เสียบลงไปด้านบนและไหลออกไปที่ช่องด้านล่าง ทิ้งไว้สักครู่จนน้ำใส จึงปิดปลั๊กอุดด้านล่างและปิดน้ำจากสายยาง ดับเครื่องยนต์ และเติมน้ำยาหล่อเย็น COOLANT เพื่อเพิ่มจุดเดือดของน้ำ

3. คลายปลั๊กไล่น้ำเล็กน้อย เพื่อให้น้ำลดระดับลงไป หลังจากนั้นให้เติมน้ำยาหล่อเย็น เติมจนเต็มสัดส่วนที่ข้างกระป๋องน้ำหล่อเย็นระบุไว้ เช่น 0.5 หรือ 1 กระป๋องต่อรถยนต์ 1 คัน เป็นต้น

4. ติดเครื่องยนต์ ปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานสักครู่ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้วาล์วน้ำเปิดจนสุด มีการหมุนเวียนปกติ เติมน้ำยาในหม้อน้ำและถังพักให้ได้ระดับ ปิดฝาเป็นอันเสร็จ

5. สำหรับรถยนต์ที่ใช้หม้อน้ำระบบปิด ให้เติมน้ำที่ถังพัก และทำตามวิธีที่อธิบายไปข้างต้น แต่ต้องหาหัวไล่ลม เพื่อไล่ลมพิเศษออกจากระบบให้หมด

การล้างหม้อน้ำจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป เพราะคุณก็สามารถล้างด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเสียค่าช่างอีกด้วย

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ดูแลรักษาพัดลมหม้อน้ำ




พัดลมหม้อน้ำเป็นระบบหล่อเย็นที่จะขาดไม่ได้สำหรับรถยนต์

เพราะช่วยปรับความสมดุลของความร้อนที่เกิดขึ้นภายในรังผึ้งของหม้อน้ำกับอากาศ ปัจจุบันพัดลมหม้อน้ำส่วนใหญ่นิยมใช้พัดลมที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เพราะสามารถควบคุมการทำงานได้ง่ายกว่าระบบสายพาน แต่มีขนาดเล็กไม่สามารถทำให้มีขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากปริมาณกระแสไฟฟ้าภายในรถมีปริมาณน้อย ดังนั้นทำให้รถบางชนิดยังคงต้องใช้พัดลมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบสายพานอยู่โดยอาศัยกำลังจากเครื่องยนต์ เช่น รถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล

ปกติพัดลมหม้อน้ำมักไม่ต้องมีการบำรุงรักษาใด ๆ เพราะหากเกิดการชำรุดเสียหายก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ แต่อย่างไรก็ควรหมั่นตรวจสอบสภาพการใช้งานเป็นระยะ โดยการตรวจดูใบพัดว่ามีการแตกหักหรือไม่ ดูโครงสร้างกรอบบังลมว่ายังคงอยู่ในตำแหน่งที่หนาแน่นและไม่มีร่องรอยของการเสียดสี เช็คระบบสายไฟว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือเปล่า ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ด้วยการสตาร์ทเครื่องยนต์ และคอยสังเกตการทำงานของพัดลมหม้อน้ำ ในระหว่างที่มีการติดเครื่องใหม่พัดลมหม้อน้ำจะยังไม่ทำงาน จะเริ่มทำงานก็ต่อเมื่ออุณหภูมิของเครื่องยนต์เริ่มสูงขึ้น มากกว่าระดับปกติ ที่มีประมาณ 85-90 องศาเซลเซียสและพัดลมหม้อน้ำ จะเริ่มหยุดทำงานเมื่ออุณหภูมิของเครื่องยนต์ลดต่ำลง สลับกันไปมาเช่นนี้

หากการตรวจสอบพบว่า พัดลมหม้อน้ำมีการทำงานตลอดเวลา แสดงว่าเกิดความผิดปกติขึ้น ซึ่งอาจมาจากระบบภายในท่อเย็น หรืออุปกรณ์ที่ควบคุมการทำงานของพัดลมโดยตรง หากเป็นเช่นนี้ ให้ใช้น้ำฉีดที่หม้อน้ำ อย่าฉีดให้โดนมอเตอร์ไฟฟ้า เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดความเสียหายได้ หากน้ำที่ฉีดเข้าไปสามารถหยุดการทำงานของพัดลมหม้อน้ำได้ แสดงว่าพัดลมหม้อน้ำเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ปริมาณสารหล่อเย็นที่ไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดการอุดตันที่ครีมระบายความร้อน มีตะกรันหรือสนิมในหม้อน้ำ อุปกรณ์ในระบบหล่อเย็น(ปั๊มน้ำเทอร์โมสตัท)บกพร่อง เป็นต้น

แต่หากทดสอบด้วยการฉีดน้ำจนอุณหภูมิของเครื่องยนต์ลดลงจนต่ำกว่าอุณหภูมิการทำงานแล้ว พัดลมก็ยังไม่หยุดการทำงานแสดงว่าอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของพัดลม (เทอร์โมสวิตช์) บกพร่อง

อาการพัดลมไม่หมุนประการสุดท้าย ให้ลองตรวจดูฟิวส์ก่อน ถัดจากนั้นให้เช็คสายไฟและขั้วเสียบ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ แสดงว่าตัวพัดลมหรือไม่ก็วงจรเกิดปัญหา ทางที่ดีควรปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญ


ฉะนั้นควรหมั่นตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องยนต์ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตรวจสอบคุณภาพยางกันสักหน่อย


สภาพอากาศภายในประเทศมีอิทธิพลต่อการใช้ยาง

เพราะสภาพอากาศที่แตกต่างทำให้ยางต้องเผชิญกับสภาพถนนและอุณหภูมิที่แตกต่างกันออกไปด้วย ดังนั้นเราจึงควรเอาใจใส่ยางเป็นพิเศษ เพราะผลตอบรับที่ได้กลับมาคือ การขับขี่ที่ปลอดภัย ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบยางรถยนต์อย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ขั้นตอนง่าย ๆ ในการตรวจสอบยางรถยนต์

1. ตรวจสอบหน้ายางและแก้มยาง ว่าได้รับความเสียหายอย่างไรหรือไม่ เช่น รอยบาดจากของมีคม
แก้มยางมีอาการบวม ยางมีการแตกลายงา

2. แก้มยางมีการฉีกขาดไปจนถึงผ้าใบชั้นใน ควรเปลี่ยนยางใหม่ทันที เพราะแก้มยางเป็นจุดที่ยางต้องรับน้ำหนัก และมีการบิดตัวไปมาในขณะที่มีการขับขี่ อาจส่งผลให้ยางระเบิดได้ หากแก้มยางมีการฉีกขาด

3. การบวมของยางอาจมาจากสาเหตุของน้ำมัน หรือยางร่อนออกจากขอบกระทะล้อ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการจอดรถในบริเวณที่มีคราบน้ำมัน หรือหากมีน้ำกรดหกใส่ยางรถยนต์ ควรรีบเช็ดล้างด้วยน้ำสบู่ทันที

4. ตรวจสอบสภาพของกระทะล้อและจุกวาล์วเติมลมเป็นประจำ เพราะในบางครั้งสาเหตุของยางแบนหรือรั่วซึมอาจมาจากสาเหตุของการละเลยกระทะล้อและจุกวาล์วเติมลม ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน ควรมีฝาปิดจุกเติมลม เพื่อป้องกันการรั่วซึมของลมยาง

5. เมื่อรถถูกลากเป็นระยะทางไกล ๆ เนื่องมาจากการรถเสีย จึงควรเพิ่มแรงดันลมยางที่ล้อหลังอีก 3-4 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว

6. ปัจจัยที่ทำให้ยางรถยนต์มีการสึกหรอเร็วกว่าปกติ อาจมาจากสาเหตุของการออกตัวแบบกระชาก ออกตัวอย่างรุนแรง หรือการเข้าโค้งในความเร็วสูง

7. ตรวจสอบความลึกของดอกยาง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งระดับที่เหมาะสมของดอกยางควรมากกว่า 2 มิลลิเมตร ปัจจุบันยางบางรุ่นมีสัญลักษณ์บ่งชี้ความลึกของดอกยาง มีลักษณะเป็นแท่งเชื่อมระหว่างดอกยางกับส่วนลึกที่สุดของร่องยาง เมื่อไหร่ที่ดอกยางสึกมาจนถึงแท่งนี้ เมื่อนั้นก็ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ได้แล้ว

8. ตรวจสอบดูอายุการใช้งานของยาง เพราะยางบางเส้นหมดอายุการใช้งาน จึงทำให้สภาพของเนื้อยางมีการบวมหรือแตก

9. หมั่นตรวจดูเศษหินหรือก้อนกรวด เศษแก้วต่าง ๆ ที่เกาะติดอยู่บริเวณยางรถยนต์ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเบียดแทรกหรือทิ่มตำเนื้อยางทำให้เนื้อยางเกิดความเสียหายได้

อย่างไรก็ตามแม้ยางจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่หากยางที่คุณใช้งานอยู่เสื่อมสภาพการใช้งานไปแล้ว ก็ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์



เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์

เป็นอุปกรณ์ช่วยป้องกันความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ หากประสบอุบัติเหตุเข็มขัดนิรภัยจะช่วยรั้งผู้ขับขี่ ให้อยู่ติดกับเบาะที่นั่งไม่กระเด็นออกนอกตัวรถหรือไปกระแทกกับส่วนต่าง ๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น จึงควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่มีการขับขี่รถยนต์

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เข็มขัดนิรภัยได้ถูกนำมาใช้ เพื่อป้องกันนักบินตกลงมาจากเครื่องบิน ในขณะบินต่อสู้ทางอากาศ ด้วยคุณสมบัติข้อดังกล่าวนี้เอง เข็มขัดนิรภัยจึงได้ถูกพัฒนามาใช้กับรถยนต์
7 ตุลาคม 2540 ประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายควบคุมวินัยจราจร ให้ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสาร ที่นั่งตอนหน้า คาดเข็มขัดนิรภัยทุกคน เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากอุบัติเหตุ

เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์มี 3 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 เข็มขัดนิรภัยแบบยึด 4 จุด คือ สายเพื่อคาดบริเวณตัก โดยสายของเข็มขัดจะถูกยึดติดกับพื้นที่รถ 2 จุด อีก 2 จุด ที่เหลือ จะยึดจากโรลบาร์ผ่านเบาะนั่งคนขับ มาบรรจบกับ 2 จุดแรก เข็มขัดนิรภัยประเภทนี้นิยมใช้ในรถแข่ง เพราะให้ความปลอดภัยสูง

ประเภทที่ 2 เข็มขัดนิรภัยแบบยึด 3 จุด คือ เข็มขัดที่ยึดจากเสากลางหนึ่งจุด และยึดจากพื้นรถอีก 2 จุด เมื่อคาดเข็มขัดจะคาดผ่านบริเวณไหล่ของคนนั่ง สำหรับอีกเส้นหนึ่งจะคาดผ่านบริเวณตัก เข็มขัดนิรภัยชนิดนี้ นิยมใช้ในรถยนต์ทั่วไป ซึ่งติดตั้งบริเวณเบาะนั่งคนขับและเบาะผู้โดยสารตอนหน้า

ประเภทที่ 3 เข็มขัดนิรภัยแบบยึด 2 จุด เป็นเข็มขัดที่ยึดจากพื้นรถด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง โดยคาดผ่านบริเวณตัก เข็มขัดนิรภัยแบบยึด 2 จุด มักใช้กับเบาะโดยสารตอนหลัง แต่สำหรับรถรุ่นใหม่บางรุ่นได้เปลี่ยนจากเข็มขัดนิรภัย 2 จุด มาเป็น 3 จุดแทน เพื่อให้ผู้โดยสารที่นั่งตอนหลังมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นเมื่อมีการขับขี่หรือโดยสารรถยนต์ ควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้เป็นนิสัย เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุแล้ว ยังสามารถรักษาชีวิตของคุณได้อีกด้วย แม้หลายคนจะทราบคุณสมบัติของเข็มขัดนิรภัย แต่มักละเลยที่จะใช้ประโยชน์ เพียงแค่คิดว่าอาจไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับคุณ